นโยบายการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)


มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้ความสำคัญของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษา ตามนโยบายปฏิรูปการศึกษาของรัฐ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการออกประกาศพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่กำหนดว่าในการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดดังนั้น กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ โดยจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จาก


ประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ ทำให้เป็นผู้ที่คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาตนเองให้พร้อมในการทำงานหรือศึกษาขั้นสูงขึ้นต่อไปเมื่อสำเร็จการศึกษา ดังนั้น อธิการบดีและทีมบริหารจึงได้กำหนดเป็นนโยบายยุทธศาสตร์ (Strategic Policy) ข้อหนึ่งของการบริหารงานมหาวิทยาลัยในรอบวาระสี่ปี (พ.ศ. 2555-2558) คือ “สร้างความเป็นเลิศด้านสหกิจศึกษาและ Active Learning” และเพื่อให้นโยบายยุทธศาสตร์ข้อนี้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ฝ่ายวิชาการจึงได้แต่งตั้งคณะทำงาน “โครงการพัฒนาการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)” โดยมี ดร.ทิพย์วัลย์ สุทิน เป็นหัวหน้า เพื่อศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ดำเนินการวิจัยและพัฒนาให้เป็นแนวปฏิบัติที่ดี และส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนรูปแบบนี้อย่างแพร่หลายในหมู่คณาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ตลอดจนครูนักเรียนในสถาบันการศึกษาและผู้สนใจทั่วไป


คำว่า Active Learning มีความหมายกว้าง เป็นวิธีการหลายรูปแบบที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบต่อการเรียนของตน คณะทำงานดังกล่าวแปลว่า “การเรียนรู้เชิงรุก” เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอน เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ลดการสื่อสารและถ่ายทอดเนื้อหา จากการให้ฟังบรรยายเพียงอย่างเดียวมาเน้นให้ผู้เรียนมีการปฏิบัติมากขึ้น ให้มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกันและกับผู้สอน ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ สามารถจดจำและส่งต่อความรู้ที่ได้เรียนมาต่อไปได้ ทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต


รองศาสตราจารย์ ดร.อมรา ช้างทรัพย์


Top