ความเป็นมา/ความสำคัญ


แนวคิดในการกำหนดคำนิยามของการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


ในการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษากระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 หมวด 4 มาตราที่ 22 กล่าวว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพและมาตราที่ 24 (1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (2) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาและ (3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติ ให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา, 2545) ทั้งนี้สอดคล้องกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา 2552 ที่ต้องการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการพัฒนาศักยภาพด้านคุณธรรมจริยธรรม ความรู้ ทักษะทางปัญญา ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ และทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวเป็นความสามารถของผู้เรียนที่ทำให้สามารถเรียนรู้แบบนำตนเองและเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และตามเกณฑ์การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2553 ที่กล่าวถึงพันธกิจที่สำคัญที่สุดของสถาบันการศึกษา คือการผลิตบัณฑิต หรือการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีความรู้ในวิชาการและวิชาชีพมีคุณลักษณะตามหลักสูตรที่กำหนดการสอนในยุคปัจจุบันใช้หลักการของการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จากการศึกษาข้อมูลการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามแนวคิดของนักการศึกษาหลายท่าน มีคำศัพท์ในลักษณะคล้ายกันอีกหลายคำ เช่น Active Learning, Learner-centered Approach หรือ Student-centered แต่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย 2 คำ คือ การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และ การเรียนรู้เชิงรุก สรุปความหมายโดยสังเขปได้ดังนี้

จากการศึกษาข้อมูลการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามแนวคิดของนักการศึกษาหลายท่าน มีคำศัพท์ในลักษณะคล้ายกันอีกหลายคำ เช่น Active Learning, Learner-centered Approach หรือ Student-centered แต่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย 2 คำ คือ การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และ การเรียนรู้เชิงรุก สรุปความหมายโดยสังเขปได้ดังนี้


การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner-centered Approach)

ตามอภิธานศัพท์การประกันคุณภาพการศึกษา (QA Glossary) 2553 [1] คู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2553 ได้กำหนดคำ การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner-centered Approach) หมายถึงกระบวนการจัดการศึกษาที่ถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด เน้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ และพัฒนาความรู้ได้ด้วยตนเอง รวมทั้งมีการฝึกและปฏิบัติในสภาพจริงของการทำงาน เชื่อมโยง ประยุกต์สิ่งที่เรียนรู้เข้ากับสังคม มีการจัดกิจกรรมและกระบวนการให้ผู้เรียนได้คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ โดยสะท้อนจากการที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรายวิชา หรือเลือกทำโครงงานหรือชิ้นงานตามความสนใจในขอบเขตเนื้อหาของวิชานั้นๆ ซึ่งสอดคล้องกับนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงอีกหลายท่าน ได้ให้ความหมายของ การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คือการที่ผู้เรียนเป็นผู้รับผิดชอบในการเรียนรู้ของตนเอง ตั้งแต่การวางแผนจัดระบบระเบียบ ลงมือปฏิบัติ และประเมินผลการเรียนรู้ของตนเอง เป็นการเรียนรู้เชิงรุก ผู้เรียนหาความรู้ได้จากเอกสาร เพื่อน แหล่งความรู้ อาจารย์ และสิ่งแวดล้อม โดยมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน มีกระบวนการคิดและการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล มีหลักวิชาการรองรับ สร้างองค์ความรู้และประมวลความรู้ โดยผู้สอนเป็นผู้แนะนำชี้แนะ ให้แหล่งข้อมูลร่วมกัน กำหนดการเรียนการประเมินผลประเด็นการศึกษา

การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) คือการเรียนที่ผู้เรียนต้องหาความหมายและทำความเข้าใจด้วยตนเอง หรือร่วมกันกับเพื่อน เช่นร่วมสืบค้นหาคำตอบ ร่วมอภิปราย ร่วมนำเสนอ และสรุปความคิดรวบยอดร่วมกัน หรือเป็นการเปลี่ยนผู้เรียนจากการเป็นผู้นั่งฟังเพียงอย่าง (passive) มาเป็นผู้เรียนที่ร่วมกิจกรรมการแสวงหาความรู้ที่ผู้สอนกำหนด (ศักดา ไวกิจภิญโญ , 2548) หรือเป็นกระบวนการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องได้มีโอกาสลงมือกระทำมากกว่าการฟังเพียงอย่างเดียว ต้องจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้การเรียนรู้โดยการอ่าน การเขียน การโต้ตอบ และการวิเคราะห์ปัญหา อีกทั้งให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการคิดขั้นสูง ได้แก่ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า


Top